เว็บไซต์​ ดร.สมชาย​ หาญ​หิรัญ​ ช่องทางอีกช่องทางหนึ่งในการแลกเปลี่ยนความคิด ความรู้และข่าวสารครับ

thzh-CNenja

ความสามารถในการแข่งขันของไทย มองผ่านกระจกเงาที่เรียกว่า “การส่งออก”

 

บริบทต่อเรื่อง ความสามารถในการแข่งขันของไทย มองผ่านกระจกเงาที่เรียกว่า “การส่งออก” เรามักจะโทษการส่งออก ว่าเป็นตัวปัญหาของเศรษฐกิจที่ตกต่ำและเศรษฐกิจโลกคือปัจจัยสำคัญของการส่งออกของประเทศไทย แต่สำหรับผมแล้ว ผมมองว่าปัจจัยที่สำคัญที่สุดของการส่งออกที่ตกต่ำ คือความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งจำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแลเป็นอันดับแรก และเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างซึ่งการแก้ไขนั้นอาจต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรทำให้ที่ผ่านมาไม่ค่อยได้รับความสนใจจากนักการเมือง ที่มุ่งเน้นมองไปที่กิจกรรมโครงการหรือมาตรการที่เห็นผลในระยะสั้นประเภท “สามเดือนเห็นหน้าหกเดือนเห็นหลัง”

จุดเริ่มต้นของการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ของประเทศไทยนั่นก็คือการปรับโครงสร้างภาคการผลิต ทั้งการเกษตร อุตสาหกรรม และบริการไปพร้อมกัน และไปในทิศทางเดียวกันและสอดคล้องกัน ซึ่งเป็นการปรับโครงสร้างในแนวนอนเพื่อให้สนับสนุนส่งเสริมซึ่งกันและกันเหมือนการมองห่วงโซ่มูลค่า และในขณะเดียวกันแต่ละ  สาขานั้นก็ต้องมีการปรับโครงสร้างแนวตั้ง เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ความแข็งแกร่งให้กับสาขานั้นๆ และทั้งสามภาพนั้นจะต้องมี ecosystem ที่จะสนับสนุนในการปรับโครงสร้างทั้งสองทิศทาง (Vertial and Horizontal Restructuring) ของทุกสาขาด้วย พวกนี้ก็ได้แก่พวก นวัตกรรม การวิจัยและพัฒนา ความสามารถแรงงานรวมถึงระบบกฎหมายที่ มีประสิทธิภาพและไม่เป็นภาระและต้นทุนในการพัฒนาของระบบเศรษฐกิจ

โดยทั้งสามภาคนี้จะต้องมีผู้ที่เป็นเจ้าภาพที่มีอำนาจการตัดสินใจ ในระดับรองนายกรัฐมนตรีเป็นอย่างต่ำ และต้องสามารถมองภาพมหภาคของประเทศได้ทะลุ และทิศทางที่ต้องเดินให้ชัดเจนว่าเราจะไปทางไหนกัน เพราะในที่สุดแล้วการ ตัดสินใจในระดับนี้จะเป็นตัวกำหนดทิศทางของการโครงสร้างในระดับสาขาต่อไปทำไมเช่นนั้นแล้วผมชื่อว่ารัฐมนตรี หรือผู้บริหารของกระทรวงที่ดูแลแต่ละสาขานั้นก็ต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างเดิน ไปในทิศทางตามที่ตัวเองเข้าใจและเป็นภารกิจแคบๆ แบบแนวตั้งคล้าย Silo โดยไม่มองภาพใหญ่ของระบบเศรษฐกิจทั้งหมด ลืมการพัฒนาเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาในทาง Horizon และชอบคิดเอาเองว่ามาตรการหรือนโนบายที่ตัวเองกำลังทำนั้นมี Impact สูง หรือเป็นเพราะชอบความสำเร็จเล็กๆ นั้น เนื่องจากทำง่าย เห็นชัด ได้ผลเร็ว เลยทำซ้ำแล้วซ้ำอีก ทั้งๆ ที่มันคือกิจกรรมเล็กๆ และมีผลต่อสุดท้ายต่อการปรับโครงสร้างในสาขานั้นๆ น้อยมาก และยิ่งแย่ไปกว่านั่น มันแทบจะไม่มี impact เลยในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ระดับมหภาค

ดังนั้นผมจึงเชื่อว่า ถ้าเราอยากจะให้การส่งออกของเรามีภูมิคุ้มกันต่อระบบเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงและผันผวนนั้นจำเป็นที่ต้องมีการเพิ่ม ขีดความสามารถในการแข่งขันผ่านการปรับโครงสร้างการผลิต ทางการเกษตร บริการ และอุตสาหกรรมที่สอดประสานกัน

ผมก็อยากรู้ว่ารัฐบาลนี้จะทำอย่างไรเพราะตอนนี้ยังมองไม่เห็นรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลเศรษฐกิจมหภาคเลย แถมยังปล่อยให้นายกรัฐมนตรีชุลมุนวุ่นวายอยู่คนเดียว แค่เรื่องแจกเงินคนละ 10,000 บาทก็ทำให้หน้าหล่อเหลาของท่านดูแก่ลงไปพอสมควรแล้ว