เว็บไซต์​ ดร.สมชาย​ หาญ​หิรัญ​ ช่องทางอีกช่องทางหนึ่งในการแลกเปลี่ยนความคิด ความรู้และข่าวสารครับ

thzh-CNenja

การวิเคราะห์การส่งออกที่ลดลงของประเทศไทย

การวิเคราะห์การส่งออกที่ลดลงของประเทศไทย นั้น ไม่ควรมองแค่สาเหตุที่เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า แย่ลงเท่านั้น แต่ต้องมองให้ครบองค์ประกอบของความเป็นไปได้อีกสองสาเหตุ คือ สินค้าของเรา หมดยุค หมดสมัย หรือลดความนิยมลง และอีกปัจจัยหนึ่งคือ สินค้าของเรา แข่งขันกับต่างประเทศไม่ได้
ห้ามมองย้อนหลังไปสัก 20 ปีเราจะพบว่า สินค้าสำคัญๆที่ส่งออกของประเทศไทยนั้น ยังเหมือนเดิม แม้ว่าจะมีการพัฒนาขึ้นมาบ้าง แต่ประเภทรายการนั้น ก็ยัง คล้ายๆของเดิม เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ยาง ฯลฯ ซึ่งหากดูการส่งออกแล้วจะพบว่าประเทศคู่แข่งสำคัญใกล้บ้านเราวันนี้มีมูลค่าการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์มากกว่าเราหลายเท่าทั้งๆ ที่เมื่อก่อนเขาตามเราแบบไม่เห็นหลัง ซึ่งสาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ โครงสร้างการส่งเสริมการลงทุน โครงสร้างของการเจรจาระหว่างประเทศ และโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการพัฒนาของอุตสาหกรรมนั้นๆในประเทศ ทำให้แม้ว่าเศรษฐกิจ ประเทศคู่ค้าจะตกต่ำ แต่เขาก็ยังมีมูลค่าการส่งออกที่สูงกว่าเรามาก ทำให้ผมเชื่อว่า การมองและแก้ไขปัญหา การส่งออก ที่ของ เราตกต่ำมาอย่างต่อเนื่อง 9 เดือนติดต่อกันนั้น น่าจะมาจาก สาเหตุของโครงสร้าง มากกว่า เศรษฐกิจของประเทศที่ค้าตกต่ำแค่นั้น
ใครจะไปรู้ว่าถ้าเราสามารถเจรจา FTA กับประเทศคู่ค้าที่สำคัญได้ หรือการปรับโครงสร้างและรูปแบบการส่งเสริมการลงทุนใหม่ อาจช่วยให้เราสามารถ มีการส่งออกที่เพิ่มขึ้น โดยจะต้องเติมด้วยมาตรการที่จะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเกาะเกี่ยวการพัฒนาการส่งออกเหล่านี้ได้ด้วย
การมองหาสาเหตุ การส่งออกที่ตกต่ำ และลดลงนั้น จะช่วยให้เรา สามารถกำหนดนโยบาย การแก้ไขปัญหาการส่งออกที่ลดลงนั้น ได้ถูกจุด ไม่งั้นเราก็จะจบแค่เพียง หาตลาดใหม่ ให้ทูตพาณิชย์ หรือเอกอัครราชทูตไทยในต่างประเทศ ช่วยหาตลาด หรือหาตลาดใหม่ เท่านั้นเอง
ผมเชื่อว่าถ้าเรามองปัญหานี้ไม่ครบประเด็น ครบทุกองค์ประกอบ เราก็ไม่สามารถ ออกแบบนโยบายและมาตรการในทุกจุดครับ ไอ้ที่คัน ก็ยังคันอยู่นั้นแหละครับ