เว็บไซต์​ ดร.สมชาย​ หาญ​หิรัญ​ ช่องทางอีกช่องทางหนึ่งในการแลกเปลี่ยนความคิด ความรู้และข่าวสารครับ

thzh-CNenja

เล่าตามที่เห็นพูดตามที่คิด ความสามารถในการแข่งขัน ... ต้องการความกล้าของรัฐบาลใหม่

ความสามารถในการแข่งขัน ... ต้องการความกล้าของรัฐบาลใหม่

ในทุกปี สถาบันการจัดการนานาชาติ หรือ International Management Development (IMD) ที่ตั้งอยู่สวิสเซอร์แลนด์ จะจัดลำดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่าง ๆ จำนวนกว่า 64 ประเทศ

ล่าสุด IMD ได้จัดลำดับของความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในปี 2566 อยู่ลำดับที่ 30 ซึ่งถือว่าดีขึ้นกว่าปีก่อน 3 ลำดับ โดย IMD ใช้ตัวชี้วัด 336 ตัว จัดหมวดหมู่เป็น 4 กลุ่ม คือกลุ่มความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจมหภาค ความสามารถของภาคเอกชน ประสิทธิภาพของรัฐบาล และระบบโครงสร้างพื้นฐาน

โดยใช้ข้อมูลตัวเลขเชิงสถิติ และข้อมูลพื้นฐานในปีก่อนหน้า 1 ปี รวมทั้งข้อมูลสำรวจความคิดเห็นนักธุรกิจ ในช่วงต้นปี 2566 เพื่อนำมาวิเคราะห์คำนวณ

ความสำคัญของลำดับความสามารถในการแข่งขันที่ IMD นำเสนอนั้น เป็นกระจกที่ดีสำหรับเราที่จะมองถึงตัวตนของเราในเชิงเปรียบเทียบกับคนอื่นๆ ในระบบเศรษฐกิจโลก เพราะถ้าเรามองแค่การเปลี่ยนแปลงของตัวเองเมื่อเทียบกับช่วงเวลาที่ผ่านมานั้น คงไม่เพียงพอที่จะทำให้เรามองเห็นจุดอ่อนเพื่อพัฒนาตัวเอง

ในการแข่งขันกับเวทีโลกได้ และความตั้งใจของ IMD ที่นำเสนอตัวชี้วัดทั้ง 336 ตัวนั้น ก็เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ มองเห็นขีดความสามารถ ระบบนิเวศน์การพัฒนาของตนเองทั้งภาครัฐ เอกชน รวมทั้งโครงสร้างทางสังคม

ทุกด้านของตัวเองในเชิงเปรียบเทียบ ว่ามีความพร้อมในการสนับสนุนให้ภาคเอกชนสามารถทำธุรกิจได้สะดวก ช่วยให้ภาคเอกชนสามารถปลดปล่อยประสิทธิภาพและศักยภาพของตัวเองได้มากน้อยเพียงใดเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ

ในปี 2566 หากมองในรายละเอียดทั้ง 4 ด้านจะพบว่าประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศอื่นโดยเฉพาะทางด้านสถานการณ์เศรษฐกิจมหภาค เราได้อันดับที่ดีขึ้นถึง 18 อันดับ ความสามารถของภาคเอกชนและประสิทธิภาพของภาครัฐสูงขึ้นด้านละ 7 อันดับ ส่วน ด้านโครงสร้างพื้นฐาน เราดีขึ้น 1 อันดับ

โดยในด้านความสามารถทางเศรษฐกิจมหภาค ที่เราดีขึ้นอย่างมากจากลำดับ 34 ในปี 2565 เป็นลำดับ 16 ในปีนี้ หลายคนอาจจะสงสัยว่าในขณะที่เราเจอสถานการณ์เงินเฟ้อที่สูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่ขยับขึ้นอย่างต่อเนื่อง การส่งออกโดยเฉพาะช่วงปลายปีจนถึงต้นปีนี้ติดลบมาตลอด

รวมทั้งการลงทุนระหว่างประเทศก็ไม่ขยับสูงขึ้นแต่อย่างใด แต่เราก็มีการจ้างงานที่ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว เสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน และฐานะทางการคลัง ซึ่งการวัดครั้งนี้เป็นการมองในเชิงเปรียบเทียบ เราจะเห็นว่าสิ่งที่เราไม่ดีทั้งหมดนี้ ก็ยังดีกว่าประเทศอื่นๆ ที่มีอัตราเงินเฟ้อสูงมาก ต้นทุนพลังงานที่สูง แถมเศรษฐกิจชะลอตัว และหลายประเทศกำลังเจอปัญหาหนี้สาธารณะ และความผันผวนและไม่มีเสถียรภาพของค่าเงิน ฯลฯ

แต่ที่น่าสังเกตที่เป็นจุดอ่อนของด้านนี้ ก็คือ ค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว ทั้งนี้ เพราะแม้ว่าในปีที่แล้วจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นมา ซึ่งดูรายละเอียดแล้วจะเห็นว่ารายจ่ายของนักท่องเที่ยวต่อหัวอาจยังคงมีไม่มากนัก และการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวยังกระจุกตัว ทำให้เราอยู่ที่อันดับ 39 จาก 60 ของประเทศทั้งหมด ซึ่งก็เปิดช่องทางให้เรามองเห็นการพัฒนาในด้านนี้เกี่ยวกับคุณภาพของนักท่องเที่ยวและการจัดการท่องเที่ยวภายในประเทศของเราได้อีกมาก

ส่วนประสิทธิภาพของรัฐบาลที่เพิ่มสูงขึ้นกว่า 7 อันดับ มาเป็นลำดับ 24 ในปีนี้นั้น ส่วนใหญ่ก็มาจากจุดเด่นในเรื่องของนโยบายการเงินและการคลังที่มีประสิทธิภาพ การระดมเงินทุนเพื่อใช้ในนโยบายต่างๆ มีอัตราต้นทุนที่ต่ำ รวมทั้งคุณภาพของกฎหมายแรงงานของประเทศไทยนั้นถือว่าดีเมื่อเทียบกับที่ใดในโลก

โดย IMD จัดอยู่ในอันดับที่ 6 ของโลก ส่วนจุดอ่อนของด้านประสิทธิภาพของรัฐบาลนั้น ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของคอรัปชั่น ซึ่งเราอยู่อันดับท้ายๆ รวมทั้ง ดัชนีวัดหลักนิติธรรม และความเสี่ยงทางด้านความมั่นคงทางการเมือง

ซึ่งทั้งหมดนี้ อยู่อันดับท้ายๆ ของการวัดของทุกประเทศ ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใด ถ้าจะประหลาดใจก็ตรงที่ว่าไม่ยอมพัฒนาสักที คนที่ดูแลเรื่องนี้ก็น่ารู้ดีว่าควรทำอย่างไร เพียงแต่จะแก้หรือไม่เท่านั้น

ส่วนประสิทธิภาพของภาคธุรกิจนั้น ก็ยังมีจุดอ่อนที่ผลิตภาพมวลรวม (Total Factor Productivity) และผลิตภาพของแรงงานที่ต่ำ รวมทั้งทัศนคติของผู้บริหารในการยอมรับความเสี่ยงทางธุรกิจยังมีน้อยทำให้ไม่กล้าทำอะไรที่เปลี่ยนแปลงจากเดิม นอกจากนี้ ความเข้มแข็งของวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อมยังมีปัญหาอยู่มาก ไม่ว่าด้านนวัตกรรม การเข้าถึงแหล่งทุน และความสามารถผู้ประกอบการ

ในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานนั้น อาจแบ่งย่อยเป็นด้านต่างๆ จะพบว่าโครงสร้างพื้นฐานทางด้านกายภาพ เช่น สาธารณูปโภค ถนน แต่ด้านอื่นๆ ยังมีอันดับที่ลดลง ไม่ว่า โครงสร้างด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม โครงสร้างด้านวิทยาศาสตร์ หรือโครงสร้างทางด้านการศึกษา ล้วนแต่มีอันดับที่ลดลงทั้งนั้น

ส่วนที่แปลกใจเกี่ยวกับเรื่องโครงสร้างสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมนั้น ประเทศไทยยังอยู่ในอันดับที่ค่อนข้างต่ำมาก หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมทางด้านสาธารณสุขเราถึงต่ำ ทั้งๆ ที่เป็นที่รู้จักกันทั่วโลกว่า ด้านสาธารณสุขของเราอยู่ในระดับโลก มีทั้งแพทย์เก่งโรงพยาบาลเยี่ยม แต่ที่เขามองไม่ใช่ประเด็นแค่เรื่องคุณภาพ

แต่มองมิติอื่น ๆ อาทิ ความสามารถในการเข้าถึงการบริการสาธารณสุขของประชาชนทั่วไป ทั้งจำนวนการบริการและต้นทุน ซึ่งตรงนี้ต้องยอมรับว่าเรายังมีหลายเรื่องที่ต้องปรับปรุง เราอาจจะไม่ต้องให้ความสำคัญกับการจัดอันดับเหล่านี้มากนักก็ได้เพราะมันไม่ใช่เป็นสรณะของทุกสิ่ง แต่อย่างน้อยเราควรจะใช้มันเพื่อเป็นกระจกในการมองตัวเอง ว่าเรานั้นเมื่อเทียบกับคนอื่นแล้วเราดีกว่าหรือไม่อย่างไร การเดินไปข้างหน้าแต่เดินช้ากว่าคนอื่นนั้น ก็ถือว่าเรากำลังถอยหลัง ซึ่งมีผลต่อการไปเผชิญหน้ากับประเทศต่างๆ ในเวทีการแข่งขันระหว่างประเทศ

ข้อเสนอที่รัฐบาลใหม่ต้องมองในการสัมมนาของคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง ร่วมกับกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรมของวุฒิสภาที่ผ่านมาเมือต้นเดือนกันยายนนี้ มีข้อเสนอแนะที่น่าสนใจที่ผมสรุปพอสังเขป ดังนี้

ประเทศไทยต้องปรับโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม การศึกษาและวิทยาศาสตร์ อย่างขนานใหญ่ เพราะอันดับของเรายังอยู่ล้าหลังประเทศต่าง ๆ มาก อยู่อันดับ 50 กว่า ๆทุกรายการ ยกเว้นด้านสาธารณูปโภคทางกายภาพที่เรามีอันดับที่ดีขึ้น โดยเฉพาะด้านคุณภาพและการเข้าถึงบริการของภาครัฐ

เราจำเป็นที่จะต้องมีเจ้าภาพ ซึ่งผมคิดว่าสภาพัฒน์ฯ ควรจะเป็นเจ้าภาพงานนี้ รวบรวม จัดลำดับความสำคัญของตัวชี้วัดทุกตัวที่ IMD ใช้วัดและประเทศไทยอยู่ในอันดับต่ำ และกำหนดทิศทางการพัฒนา ปัจจัยสำคัญในแต่ละด้าน และที่สำคัญที่สุดคือสำนักงบประมาณ จะต้องนำกรอบทั้งหมดที่เป็นปัจจัยเร่งด่วนของการพัฒนาขีดความสามารถของประเทศ ไปใช้ในการพิจารณาเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์ในการจัดสรรรายได้สำหรับหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย

จากการสัมภาษณ์ของผู้บริหารธุรกิจในประเทศไทยโดย IMD ถึงปัจจัยที่ดีของประเทศไทย 15 อันดับ ปรากฏว่าคะแนนที่ต่ำสุด 4 อันดับสุดท้าย (อันดับ 12–15) คือ วัฒนธรรมการวิจัยและพัฒนา (Strong R&D culture) คุณภาพการศึกษา (Level of education) ความสามารถของรัฐบาล (Competency of government) และประสิทธิภาพของกฎ ระเบียบ (Effective legal environment) ซึ่งอันดับเหล่านี้จะเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศที่อันดับความสามารถในการแข่งขันสูง ๆ

ต้องรีบทำ Regulatory Guillotine โดยการ ตัด ยกเลิก แก้ไข ปรับปรุง กฎหมาย ระเบียบที่ซ้ำซ้อน ไม่จำเป็น และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาขีดความสามารถและเพิ่มต้นทุนให้ภาคธุรกิจโดยไม่จำเป็น เพราะที่ผ่านมาเราพยายามแก้ไข ปรับปรุงมาตลอดแต่ก็ไม่ไปไหนมาก เพราะหน่วยงานต่าง ๆ ก็พยายามปกป้องอำนาจตนเอง แถมยังออกกฎหมายใหม่มาเพื่อความสะดวกในการทำงานของตนเอง แทนที่จะดูที่ความสะดวกของประชาชนและเพื่อสนับสนุน ลดต้นทุนการเงินและเวลาให้กับภาคเอกชน

ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ พูดกันมานาน บ่นกันมาเยอะ ศึกษากันมาแยะ ข้อมูลครบหมด จะขาดแต่ความกล้าตัดสินใจของคนที่มีหน้าที่ ลองมาดูว่ารัฐบาลใหม่นี้จะกล้า .... กล้าตัดสินใจเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน อย่างที่พร่ำไว้ในตอนหาเสียงหรือเปล่าครับ

ที่มา https://www.thansettakij.com/blogs/columnist/tell-as-you-see

รวบรวมข้อมูลภาพ https://harnhirun.net/

---------------------------------------------

สนใจเรื่องราวแหล่งเรียนรู้ออนไลน์เพิ่มเติมคลิกที่นี่

เล่าตามที่เห็นพูดตามที่คิด รวมบทความจากฐานเศรษฐกิจ

---------------------------------------------