เว็บไซต์​ ดร.สมชาย​ หาญ​หิรัญ​ ช่องทางอีกช่องทางหนึ่งในการแลกเปลี่ยนความคิด ความรู้และข่าวสารครับ

thzh-CNenja

เล่าตามที่เห็นพูดตามที่คิด เรื่องเก่า ... ถ้ากล้าเริ่ม ก็จบ

 

ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 นี้ ตัวเลขการนำเข้าเหล็กของประเทศไทยที่สมาคมอุตสาหกรรมเหล็กของอาเซียนได้เปิดเผยขึ้นมานั้น พบว่ามีปริมาณสัดส่วนการนำเข้าถึงประมาณ 70% ของปริมาณการใช้ทั้งหมดของประเทศที่ 7.17 ล้านตัน

โดยมีการนำเข้าสูงถึง 4.99 ล้านตัน โดยเฉพาะเหล็กแผ่นรีดร้อนมีการนำเข้าเพิ่มกว่า 286% ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนมีการนำเข้าเพียง 22% ของการใช้ในประเทศ ส่งผลให้มีการใช้กำลังการผลิตในประเทศลดลงเหลือ 29% ลดลงจาก 33% ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

ในขณะที่ประเทศผู้ผลิตเหล็กอื่นในอาเซียนมีการใช้กำลังการผลิตสูงกว่าเราเกือบเท่าตัว คือ ที่ 52.3%

ผลดังกล่าวทำให้ราคาวัสดุก่อสร้างลดลงอย่างชัดเจนโดยเฉพาะราคาเหล็ก ซึ่งผมค่อนข้างแปลกใจในเมื่อเรามีมาตรการป้องกันการทุ่มตลาดให้กับอุตสาหกรรมเหล็ก และความต้องการใช้ในตลาดก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นบ้างเล็กน้อย แต่การนำเข้ากลับเพิ่มขึ้น กดดันราคาให้ลดลง ส่งผลทำให้การผลิตในประเทศลดลง

ผู้อยู่ในวงการไม่ค่อยแปลกใจเท่าใด เพราะผมเชื่อว่าทั้งหมดเห็นด้วยกับผู้อำนวยการสถาบันเหล็กแห่งประเทศไทย

ท่านวิโรจน์ โรจน์วัฒนชัย ที่ให้เห็นว่ามาตรการป้องกันการทุ่มตลาด (AD) ของเรานั้นยังมีจุดรั่วไหล และเกิดจากการหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้า (Circumvention) ในผลิตภัณฑ์สำคัญ ๆ เช่น เหล็กแผ่นรีดร้อน หรือเหล็กลวด ฯลฯ

เรื่องดังกล่าวนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เราพบมาตลอดในอดีต เล่นเอาล่อเอาเถิดกับผู้นำเข้าตลอดเวลา เมื่อถูกมาตรการ AD ผู้ผลิตก็เลี่ยงไปเติมสารนั้นสารนี้ เช่นที่ผ่านมาก็เติม โบรอน พอรัฐออกมาตรการจัดการเรื่องโบรอน ก็หันไปเจือโครเมียมมาอีกหน่อย เพื่อให้หมวดรายการผลิตภัณฑ์นี้หลุดออกจากพิกัดของรายการผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรการ AD

แม้แต่การกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์เหล็ก (มอก.) ก็ไม่สามารถกั้นการเลี่ยงบาลีของคนที่ต้องการหลีกเลี่ยงได้ เพราะระบุสารและธาตุต่าง ๆ พอเปลี่ยนสารหรือธาตุนิด ๆ หน่อย ๆ ก็หลุด ออกจากระเบียบนั้น ๆ เพราะคนหลีกเลี่ยงเขาใช้ประโยชน์จากวิธีคิดของเจ้าหน้าที่ที่เล่นง่าย ๆ ว่าตามตัวหนังสือในระเบียบ

ดูตามตัวอักษรนั้นเป๊ะ ๆ โดยไม่สนใจในเจตนารมณ์ของกฎ ระเบียบนั้น ๆ ทำให้ที่ผ่านมาเราก็กลายเป็นตัวตลกของคนนำเข้าที่เดินไปข้างหน้าหนึ่งก้าว รอสักพักหน่วยงานรัฐก็ออกระเบียบตาม และเขาก็เดินต่อ

จนวันนี้จากธาตุใหม่ ๆ ที่ไม่มีในรายการบังคับ เช่น ไวเบเนียม ไนโอเบียม หรือไททาเนียม เจือมากับผลิตภัณฑ์เหล็กอยู่เรื่อย ๆ โดยปลายทางแล้ว ต่อให้เจืออะไรมา การใช้ประโยชน์ของผลิตภัณฑ์เหล็กเหล่านี้ยังอยู่ในผู้ใช้เดิม ๆ เช่น ท่อเหล็กทั้งกลมและเหลี่ยม อุตสาหกรรมก่อสร้าง และอุตสาหกรรมยานยนต์ ฯลฯ

ปัญหาดังกล่าวนี้ ถกกันมาเป็น 10 ปี และเราก็พยายามหาทางแก้ไขการหลบเลี่ยงมาตรการการค้า หรือ Circumvention นี้มาตลอด ถ้ายังจำได้ว่าเราเคยมีการคุยกันเรื่องนี้ และรัฐบาล คสช. โดยพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สมัยนั้น ได้มีนโยบายให้กำหนดมาตรการ Anti-Circumvention (AC) เพื่อให้มาตรการการทุ่มตลาดหรือมาตรการทางการค้าต่าง ๆ มีประสิทธิภาพในการใช้บังคับมากขึ้น

และผมเข้าใจต่ออีกว่ากระทรวงพาณิชย์ได้ออกประกาศ AC ออกมาแล้ว เพียงแต่ยังไม่เคยนำมาใช้เลย อาจเป็นเพราะว่าหลักการ เงื่อนไข และแนวทางปฏิบัติในรายละเอียดอาจยากที่จะปฏิบัติ หรือมีความยุ่งยากในแง่กฎหมายโดยเฉพาะขอบเขตของการตีความของคำว่า Circumvention แม้คำนี้ทั้งโลกที่เขาใช้กันไม่ว่าสหภาพยุโรป หรือสหรัฐฯ ก็นำมาใช้กับเหล็กนำเข้าจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

ดูจากหลักการของ Circumvention หรือการหลีกเลี่ยงที่มีการใช้เป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาใช้ Anti-Circumvention ที่มี 5 ประการสำคัญ ๆ ก็คือ การดัดแปลงเล็กน้อยแต่ไม่มีผลจ่อการใช้ประโยชน์ หรือแอบส่งสินค้าที่โดน AD หรือ CVD (Countervailing Duty) ผ่านประเทศที่ไม่โดนมาตรการนี้

หรือแอบส่งออกไปในชื่อคนอื่น ๆ ที่ไม่โดน AD หรือ CVD หรือ นำสินค้าที่ยังทำไม่สำเร็จมาทำให้สำเร็จในประเทศนำเข้าโดยสินค้าที่ผลิตเป็นสินค้าเป็นสินค้าในรายการ AD หรือ CVD หรือนำขิ้นส่วนสินค้า AD หรือ CVD มาประกอบในประเทศ ทั้งหมดนี้คือรูปแบบที่เข้าข่ายของการหลีกเลี่ยงมาตรการการค้า ที่ต้องพิจารณาใช้มาตรการ Anti-Circumvention

หากดูพฤติกรรมการนำเข้าแผ่นเหล็กรีดร้อนและเหล็กลวดที่เจือสารและธาตุใหม่ ๆ ที่ไม่ระบุใน AD นั้น น่าจะเข้าข่าย Slight Modification คือ กระบวนการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในสินค้าที่มี AD หรือ CVD โดยไม่มีผลต่อคุณสมบัติที่สำคัญของสินค้านั้น ๆ เพราะทุกวันนี้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ก็ยังถูกใช้ในอุตสาหกรรมเดิม

แถมบั่นถอนประสิทธิภาพการใช้มาตรการทางการค้าของประเทศ รวมทั้งยังส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการค้าผ่าน Trade diversion ที่มูลค่าการนำเข้าสูงขึ้นอย่างมาก ทั้ง ๆ ที่สามารถใช้ผลิตภัณฑ์ในประเทศทดแทนได้อย่างสมบูรณ์โดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงผู้เล่นในระบบห่วงโซ่อุปทานแต่อย่างใด

สิ่งที่เรากำลังเจอมาตลอดสิบกว่าปี เอาล่อเอาเถิดกับผู้พยายามหลีกเลี่ยงมาตรการค้าของประเทศที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวมนั้น

ผมว่าถึงเวลาที่เรากล้าคิดที่จะเริ่มใช้หลักการ เหตุผล และเจตนารมณ์ของระเบียบนั้น ๆ ในการพิจารณาในเรื่อง Anti-Circumvention อย่างจริงจังสักที เพื่อประโยชน์และประสิทธิภาพของมาตรการต่าง ๆ ที่เราอุตส่าห์ออกมาเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้ผู้ประกอบการไทยและเศรษฐกิจไทยโดยรวม

หากเอาเฉพาะว่าตามตัวอักษรเป๊ะ ๆ ใช้คอมพิวเตอร์ทำแทนคนได้ดีกว่าเยอะ และถ้าไม่กล้าที่จะเริ่มใช้ Anti-Circumvention วันนี้ เราก็จะมีเรื่องนี้ต่อไปไม่รู้จบสิ้น ผมละไม่อยากคิดจริง ๆ ว่าคนที่หลีกเลี่ยงมาตรการนี้ด้วยวิธีนี้จะมองคนกำกับมาตรการนี้ด้วยความรู้สึกอย่างไร

.

ที่มา https://www.thansettakij.com/blogs/columnist/tell-as-you-see

รวบรวมข้อมูลภาพ https://harnhirun.net/

---------------------------------------------

สนใจเรื่องราวแหล่งเรียนรู้ออนไลน์เพิ่มเติมคลิกที่นี่

เล่าตามที่เห็นพูดตามที่คิด รวมบทความจากฐานเศรษฐกิจ

---------------------------------------------