เว็บไซต์​ ดร.สมชาย​ หาญ​หิรัญ​ ช่องทางอีกช่องทางหนึ่งในการแลกเปลี่ยนความคิด ความรู้และข่าวสารครับ

thzh-CNenja

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) มั่นใจ “หมู่บ้าน CIV ดีพร้อม” มีความพร้อมสามารถรองรับนักท่องเที่ยวช่วงหยุดยาว โดยปัจจุบันมีกว่า 230 แห่งทั่วประเทศ อาทิ บ้านนาต้นจั่น ชุมชนบางคล้า เพราะได้รับการส่งเสริมศักยภาพใน 3 ด้านหลัก ประกอบด้วย ความพร้อมด้านต้นทุนทางวัฒนธรรม ความพร้อมด้านการท่องเที่ยว และ ความพร้อมด้านสินค้าและบริการ ที่พร้อมรองรับการท่องเที่ยว โดยมีต้นแบบการพัฒนาชุมชนที่ประสบความสำเร็จ อาทิ “คนบ้านคา” ตัวอย่างชุมชนเข้มแข็ง รวมกลุ่มวัยเกษียณกว่า 50 คน ใช้วิถีเกษตรธรรมชาติ ขับเคลื่อนการท่องเที่ยว สร้างรายได้ยั่งยืน 

อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) มุ่งพัฒนาชุมชนเพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ตามแนวนโยบายของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ผ่านการดำเนินงานส่งเสริม หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Village : CIV ) หรือ “หมู่บ้าน CIV ดีพร้อม” ผ่านกระบวนการพัฒนาคนในชุมชนให้มีความพร้อม พัฒนากระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐาน และ พัฒนาชุมชนให้มีศักยภาพพร้อมเป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยใช้จุดเด่นของแต่ละชุมชนเป็นจุดขาย ผ่านการดำเนินการที่ได้รับการปรับให้สอดคล้องกับวิถีชุมชน โดยมีศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมจังหวัด ที่กระจายอยู่ในทุกภูมิภาค ทั้งนี้การดำเนินการส่งเสริมที่ผ่านมาส่งเสริมไปแล้วกว่า 230 ชุมชน สามารถสร้างรายได้ในปี 2563 จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เป็นของฝาก ของที่ละลึก 187.7 ล้านบาท รายได้จากการบริการชุมชน 92 ล้านบาท รวมรายได้ทั้งหมดกว่า 280.1 ล้านบาท


มั่นใจในศักยภาพของชุมชนต่างๆที่ได้รับการส่งเสริมว่ามีความพร้อมรองรับการท่องเที่ยวที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี อาทิ บ้านนาต้นจั่น จังหวัดพิษณุโลก เหมาะสำหรับการท่องเที่ยววิธีธรรมชาติ พร้อมเรียนรู้วัฒนธรรมการทอผ้า ชุมชนบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพ มีการจัดรูปแบบการท่องเที่ยวที่สามารถเที่ยวได้หลากหลายภายในหนึ่งวัน หรือ One Day Trip ทั้งนี้เป็นเพราะแต่ละชุมชนได้รับการพัฒนาทั้ง 3 ด้านสำคัญ ประกอบด้วย ด้านทุนทางวัฒนธรรม อันได้แก่ อัตลักษณ์ชุมชน เสน่ห์ของชุมชน วิธีชุมชน และภูมิปัญญาชุมชน ด้านการท่องเที่ยว ประกอบด้วย ทรัพยากรการท่องเที่ยว เส้นทางการท่องเที่ยว และข้อมูลการท่องเที่ยว และด้านผลิตภัณฑ์และบริการ ผ่านการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์/บริการชุมชน ของฝาก ของที่ระลึกเพื่อการท่องเที่ยว ทำให้ชุมชนต่างๆ มีความพร้อมสำหรับการรองรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ โดยชุมชนบ้านคา ถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างชุมชนที่มีความพร้อมในด้านการท่องเที่ยววิถีเกษตรอินทรีย์ ที่พร้อมรับรองการท่องเที่ยวที่จะเกิดขึ้น


ทั้งนี้ที่ผ่านมา กสอ. ประสบความสำเร็จในการยกระดับชุมชนต่าง ๆ อาทิ ชุมชนห้วยยายจิ๋ว จังหวัดชัยภูมิ ขยายผลมายังชุมชนบ้านคา จังหวัดราชบุรี และเตรียมขยายผลให้ครอบคลุมทั่วประเทศในปี 2564 ภายใต้เป้าหมายเพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน จากการดำเนินงานอย่างเข้มข้นของ กสอ. พบว่า โดยแต่ละชุมชนมีความหลากหลายทั้งในเชิงภูมิศาสตร์ และ อัตลักษณ์ ซึ่งถือเป็นจุดเด่น และทางเลือกสำหรับนักท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายในปัจจุบัน ชุมชนจึงควรค้นหาจุดแข็งของชุมชน เพื่อพัฒนาต่อยอดให้มีศักยภาพ

อย่างไรก็ดี การพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็งจนสามารถเป็น “หมู่บ้าน CIV ดีพร้อม” ในเบื้องต้น มีหลักสำคัญ 7 ประการ ประกอบด้วย

1. ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม กล่าวคือ ใช้เทคโนโลยีที่มีราคาไม่แพง แต่ถูกหลักวิชาการ 
2. มีขนาดการผลิตที่เหมาะสม สอดคล้องกับความสามารถในการบริหารจัดการ 
3. ไม่โลภ และไม่เน้นกำไรระยะสั้นเป็นหลัก 
4. เน้นความซื่อสัตย์สุจริตในการประกอบการ ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค 
5. เน้นการกระจายความเสี่ยงด้วยการสร้างผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและมีความสามารถในการปรับเปลี่ยนผลผลิตได้ 
6. เน้นการบริหารความเสี่ยงต่ำ (Downside risk management) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่ก่อหนี้จนเกินขีดความสามารถในการจัดการ และ 
7. เน้นการใช้เสน่ห์ในท้องถิ่นในการขับเคลื่อน นายณัฐพล กล่าวทิ้งท้าย

 

ด้าน นางสุประวีณ์ รัศมีตรีเนตร เจ้าของไร่มาลัยทรัพย์ อ.บ้านคา จังหวัดราชบุรี เปิดเผยว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผักผลไม้ปลอดภัย บ้านคา จังหวัดราชบุรี เกิดจากการต่อยอดปรัชญา “โครงการหลวง” ในการทำการเกษตรอินทรีย์ สร้างแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรอย่างยั่งยืน ผ่านการการรวมตัวกันของกลุ่มข้าราชการและครูที่เกษียณอายุราชการกว่า 50 คน ในนาม “คนบ้านคา จ.ราชบุรี” แลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน ยกระดับเป็นแหล่งเรียนรู้เกษตร โดยมีเป้าหมายเพื่อให้คนรุ่นหลังกลับมาใช้ชีวิตสุขใจและพัฒนาบ้านเกิดร่วมกัน โดยไร่มาลัยทรัพย์ได้เพาะปลูกอินทผลัม นำเข้าเนื้อเยื่อมาจากประเทศทางตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นต้นกำเนิดสายพันธุ์อินทผลัมในราคาต้นละ 300 บาท คัดเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสำหรับการแปรรูปมากกว่า 10 สายพันธุ์ และทดลองนำสายพันธุ์ที่ให้เหมาะกับการบริโภคสดมาปลูกด้วย อาทิ บาฮี ฮายานี่ อะบูดาเบีย ใช้ปุ๋ยมาตรฐานที่ผลิตขึ้นเอง สร้างแปลงเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม และเป็นการทำการเกษตรผสมผสาน โดยปลูกมะขามป้อมและไม้ผลชนิดอื่น ๆ เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชมบรรยากาศการเพาะปลูก เกิดการถ่ายภาพและแชร์ไปยังสื่อสังคมออนไลน์ นอกจากนี้นักท่องเที่ยวหลายรายยังสั่งจองผลผลิตอินทผลัมอินทรีย์ ที่ราคากิโลกรัมละ 400 บาทต่อกิโลกรัม โดยปัจจุบันผลผลิตบางส่วนได้ส่งออกไปยังประเทศพม่า กัมพูชา และลาว ซึ่งปีที่ผ่านมามีรายได้จากการจำหน่ายอินทผลัมกว่า 7 แสนบาท

 

นายจำนอง บุญเลิศฟ้า กลุ่มผู้ประกอบการปลูกผักผลไม้ปลอดภัยบ้านคา จังหวัดราชบุรี เปิดเผยว่า ได้ริเริ่มโครงการปลูกผักกางมุ้ง และไร่องุ่นกำนันเมี้ยง เพราะต้องการปลูกผักปลอดสารพิษ และต้องการจูงใจให้คนในพื้นที่บ้านคา ที่ออกไปทำงานในกรุงเทพฯ หรือจังหวัดอื่นๆ กลับมาใช้ชีวิตปลูกผักปลูกผลไม้และพัฒนาเกษตรที่บ้านเกิด โดยการดำเนินการได้แบ่งพื้นที่กว่า 3-4 ไร่จากทั้งหมด 20 ไร่เพื่อทำการเพาะปลูกผักสวนครัว อาทิ กวางตุ้งและคะน้าในรูปแบบแปลงปลูกกางมุ้ง นอกจากนั้นยังมีองุ่น พันธุ์บิวตี้และเพอเรท เสาวรส พันธุ์หม่าเทียนซิง ในพื้นที่บริเวณโดยรอบ โดยใช้รูปแบบของเกษตรอินทรีย์ของโครงการหลวงมาประยุกต์ โดยมีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมให้คำแนะนำในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งในปีที่ผ่านมาสามารถสร้างรายได้จากการเพาะปลูกได้กว่า 5 แสนบาท

 

ที่มา https://mgronline.com/smes/detail/9640000004263