เว็บไซต์​ ดร.สมชาย​ หาญ​หิรัญ​ ช่องทางอีกช่องทางหนึ่งในการแลกเปลี่ยนความคิด ความรู้และข่าวสารครับ

thzh-CNenja

เล่าตามที่เห็นพูดตามที่คิด SME ตัวเล็กหวังอะไรได้บ้างจาก พรก. โควิด (ใหม่)

ที่มา https://www.thansettakij.com/content/columnist/475491

แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลจะออกมาตรการจำนวนมากเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด แต่ปัญหาโควิดยาวและเรื้อรัง ใช้เวลานานกว่าที่คิดไว้มาก และแนวโน้มจะกลับมาเหมือนเดิมคงไม่ง่ายและใช้เวลาอีกนาน แม้จะมีวัคซีนออกมาแล้วก็ตาม ทำให้รัฐบาลต้องออกร่างพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. .... รวมทั้งมาตรการทางภาษีอากรและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องออกมาใหม่ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา

โดยกำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้กู้ยืมแก่สถาบันการเงินภายในวงเงินไม่เกิน 250,000 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี เพื่อให้นำไปให้กู้ยืมแก่ผู้ประกอบธุรกิจที่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินแต่ละแห่งไม่เกิน 500 ล้านบาท หรือผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินแห่งหนึ่งแห่งใด ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 และที่สำคัญต้องไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามตามที่ ธปท. กำหนด และเงินจำนวนนี้อาจเพิ่มขึ้นได้แต่ต้องไม่เกิน 350,000 ล้านบาท

มาตรการนี้มีระยะเวลา 2 ปี แต่อาจจะขยายออกไปอีก 1 ปีได้ในกรณีที่ยังมีวงเงินเหลืออยู่ และมีความจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือต่อไป หรืออาจยุติมาตรการสนับสนุนสินเชื่อฯ ก่อนระยะเวลาที่กำหนดได้ โดยสถาบันการเงินต้องชำระคืนเงินที่ได้กู้ยืมพร้อมดอกเบี้ยแก่ ธปท. ภายใน 5 ปี

ใครมีสิทธิกู้ได้บ้าง?

ผู้มีสิทธิ คือ ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 แต่ยังมีศักยภาพ ซึ่งคำว่ามีศักยภาพนี้เป็นที่ต้องตีความของสถาบันการเงินต่อไปว่าจะปล่อยให้ใคร แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยก็พยายามผ่อนปรนเรื่อง Credit Risk ให้ไปแล้ว แต่ก็ต้องอยู่กับสถาบันการเงินแต่ละแห่งจะรับได้มากน้อยขนาดไหน

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการต้องมีวงเงินสินเชื่ออยู่กับสถาบันการเงินแต่ละแห่ง ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ไม่เกิน 30% ของวงเงินสินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 หรือ ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า แต่ต้องไม่เกิน 150 ล้านบาท ส่วนรายใหม่ที่ไม่มีสินเชื่อค้างเดิมกับสถาบันการเงินในช่วงเวลาที่กำหนด ก็มีสิทธิ์กู้ได้ แต่ไม่เกิน 20 ล้านบาท

ประโยชน์ที่ได้มีอะไร?

พรก. นี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการที่ตกขบวนรถไฟไม่มีสิทธิ์กู้จาก พรก. ก่อนหน้านี้ เพราะไม่มีสินเชื่อค้างอยู่เดิมก่อนปี 2563 ซึ่งใน พรก. นี้สามารถให้กู้ได้ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการทุกรายจะได้รับประโยชน์ ในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้

ผู้ประกอบการจ่ายดอกเบี้ยถูกลง โดยอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยตลอดอายุสัญญาเฉลี่ยไม่เกิน 5% ต่อปี ทั้งนี้ ในช่วงระยะเวลา 2 ปีแรกของสัญญาให้คิดอัตราดอกเบี้ยได้ไม่เกิน 2% ต่อปี  ให้สถาบันการเงินไม่เรียกเก็บดอกเบี้ยจากผู้ประกอบธุรกิจเป็นระยะเวลา 6 เดือนแรก นับแต่วันที่ผู้ประกอบธุรกิจได้รับสินเชื่อ โดยรัฐบาลจะรับภาระดอกเบี้ยในส่วนนี้แทนผู้ประกอบธุรกิจค้ำประกันสินเชื่อที่สถาบันการเงินปล่อยให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ โดยมีระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี และให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมโดยเฉลี่ยได้ไม่เกิน 1.75% ต่อปี และให้กระทรวงการคลังชดเชยค่าธรรมเนียมดังกล่าวโดยเฉลี่ยไม่เกิน 3.5% ต่อปีของวงเงินสินเชื่อภายใต้กลไกการค้ำประกันนี้

ให้ลดค่าจดทะเบียนการจำนองเหลือ 0.01% สำหรับการจำนองอสังหาริมทรัพย์และอาคารชุดที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดภายใต้มาตรการสนับสนุนสินเชื่อฯ ลดภาระภาษีอากรและค่าธรรมเนียมที่เกิดขึ้น จากการรับโอนทรัพย์ฯ ของสถาบันการเงิน ผู้ให้กู้ และผู้ประกอบธุรกิจผู้กู้ สามารถตีโอนทรัพย์ที่ใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อชำระหนี้ เพื่อลดภาระต้นทุนทางการเงินเป็นการชั่วคราว

ถ้าจะมองดูในรายละเอียด เงื่อนไข หลักการของมาตรการต่าง ๆ ใน พรก. ฉบับนี้ จะเห็นว่าเป็นการช่วยให้สถาบันการเงินมีต้นทุนทางการเงินที่จะนำไปปล่อยกู้ต่อให้ผู้ประกอบการนั้นถูกลง แชร์ความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อให้กับสถาบันการเงิน และสร้างโอกาสและความสบายใจให้กับสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการมากขึ้น รวมทั้งการปรับกติกาเพื่อให้ผู้ประกอบการมีสิทธิ์เข้าร่วมในมาตรการนี้มากขึ้น และลดต้นทุนทางการเงินให้กับผู้ประกอบการที่มีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อของสถาบันการเงิน ส่วนโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อยังเป็นประเด็นปัญหาสำคัญของหลายราย

แบงก์ปล่อยง่ายหรือไม่?

ภายใต้มาตรการนี้ สถาบันการเงินอาจจะสบายใจขึ้นบ้างตรงที่การค้ำประกันสินเชื่อที่ปล่อยไปนั้นจะได้รับการชดเชยจากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) 40%  โดยสามารถค้ำประกันกับ บสย. ได้ในเวลา 10 ปี นอกจากนี้ ธปท. ยังได้ปรับเกณฑ์ในการพิจารณาความเสี่ยงสินเชื่อ (Credit Risk) ของสินเชื่อใหม่ เพื่อที่จะให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อได้ง่ายขึ้น แต่ตอนนี้ยังไม่มีการกำหนดเกณฑ์และกติกาที่ชัดเจน ไม่ว่าจะออกมาแบบใด

ผมเชื่อว่าธนาคารคงตั้งการ์ดสูงในเรื่องการคัดเลือกผู้ประกอบการที่จะปล่อยสินเชื่อ โดยมองกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพก่อน โดยเฉพาะลูกค้าเก่าที่มีบัญชีกับธนาคารอยู่แล้ว เพราะธนาคารจะรู้สภาพของธุรกิจ รู้กระแสการเงิน ของลูกค้ารายนั้น ๆ ดีอยู่แล้ว และประวัติดี ก็ได้รับการดูแลเป็นรายแรก ๆ เหมือนเดิม เราคงได้ยินเสมอว่า ผู้ประกอบการที่ดี ในช่วงนี้พนักงานธนาคารมักจะเวียนมาชักชวนให้กู้เพิ่ม ยิ่งเศรษฐกิจซบเซาแบบนี้ ผู้ประกอบการดี ๆ มักจะเนื้อหอมเป็นพิเศษ

ส่วนผู้ประกอบการในรายที่ร่อแร่ คาบลูกคาบดอกจะรอดไม่รอด หรือรายที่กำลังแย่ลง ธนาคารอาจต้องดูกันนานพอควร ละเอียดยิบในเอกสาร มองหาทรัพย์ค้ำประกัน และยิ่งผู้ประกอบการที่กำลังหน้ามืด ก็คงต้องหน้ามืดเหมือนเดิม ซึ่งมองอีกมุมก็เข้าใจธนาคารที่ต้องรับผิดชอบเงินที่ตนเองนำไปปล่อยต่อ แม้จะได้รับการค้ำประกันได้บางส่วนก็ตาม แต่ผมว่าพนักงานสินเชื่อคงคิดละเอียดยิบละครับ 

ผมได้รับการสอบถามจากพี่น้อง SME จำนวนมากถึง พรก. ฉบับนี้ว่าสามารถปล่อยกู้ให้รายเล็ก ๆ อย่างไร ผมว่าเราต้องทำความเข้าใจกันก่อนนะครับว่ามาตรการนี้เป็นมาตรการเพื่อให้ผู้ประกอบที่มีศักยภาพที่มองดูแล้วน่าจะมีความสามารถพยุงกิจการต่อไปได้ หากได้รับการสนับสนุนสภาพคล่องเข้าไปเพิ่มเติม เพื่อรักษาธุรกิจและการจ้างงานไว้ให้มากที่สุด ดังนั้น จะเห็นจำนวนเงินที่สามารถปล่อยกู้ให้นั้นสูงสุดถึง 500 ล้านบาทต่อรายสำหรับรายเดิม และรายใหม่สูงถึง 20 ล้านบาท

ซึ่งหากมองในเชิงนโยบายในการดูแลเศรษฐกิจมหภาคแล้วก็ถือว่าเหมาะสมและมองที่ประสิทธิภาพและมี Impact สูง แต่ถ้ามองในรายที่เดือดร้อนและมีปัญหาสภาพคล่องและธุรกิจยังไม่มีแนวโน้มที่ดีหรือที่มีปัญหาอยู่แล้วและพยายามฟื้นตัวใหม่ ตาม พรก. นี้อาจยากมาก ๆ นอกเสียจากว่ามีการปรับตัวทิศทางใหม่จนให้ธนาคารเชื่อมั่นว่าน่าจะมีศักยภาพจริง ๆ ไม่งั้นโอกาสยากครับ

บางทีอาจถึงเวลาที่รัฐอาจต้องเจียดงบประมาณในการดูแลผู้ประกอบการรายเล็ก ๆ ในวงเงินต่อรายไม่มาก และมาตรการนี้ให้อยู่นอกระบบธนาคาร โดยอาจมอบให้หน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงให้ดำเนินการและมีระเบียบที่ชัดเจนที่ต้องยอมรับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นที่ไม่ใช่มาจากการโกงของเจ้าหน้าที่ ผมย้ำว่าต้องมีกติการที่ยอมรับความเสียหายของเงินได้เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถทำงานได้ ไม่เช่นนั้นก็ไม่มีใครกล้าทำอะไรเหมือนโครงการที่รัฐบาลเคยทำมาก่อน จน SME รายเล็กด่ากันขรมและด่าไม่เลิกจนวันนี้ ผมว่าใช้มาตรการแจกเงินอื่น ๆ มามากแล้ว ลองช่วย SME รายย่อยแบบที่ว่านี้ ผมว่าอย่างน้อยก็คงพอทำให้ผู้ประกอบการและ SME รายย่อยจริง ๆ พอจะได้รับอานิสงส์ของมาตรการทางการเงินของรัฐในวิกฤติครั้งนี้ได้บ้าง

ที่มา https://www.thansettakij.com/blogs/columnist/tell-as-you-see

รวบรวมข้อมูลภาพ https://harnhirun.net/

---------------------------------------------

สนใจเรื่องราวแหล่งเรียนรู้ออนไลน์เพิ่มเติมคลิกที่นี่

เล่าตามที่เห็นพูดตามที่คิด รวมบทความจากฐานเศรษฐกิจ

---------------------------------------------